วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2555

พระพุทธศาสนาในศตวรรษที่ 1 (ตอนที่ 6)

การอภิปรายเรื่องสิขาบทเล็กน้อย
การอภิปรายเรื่องสิกขาบทเล็กน้อย  เสถียร  โพธินันทะ  กล่าวว่า  ในปฐมสังคายนาครั้งนั้น  พระอานนท์ได้กล่าวในที่ประชุมสงฆ์ถึงพระพุทธานุญาต  ข้อที่ให้สงห์ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้  ที่ประชุมได้ถามพระอานนท์ว่า  ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค  ถึงสิขาบทเล็กๆ  น้อยๆ  คืออะไร  พระอานนท์ตอบว่า  มิได้ทูลถาม  เกิดปัญหาในที่ประชุมเพราะในที่ประชุมมีความคิดเห็นต่างๆ  นานา  พระเถระบางพวก  ก็ว่าเว้นปาราชิก ๔ เสียที่เหลือจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย  บางพวกว่ายกเว้นปาราชิก  สังฆาทิเสส ๑๓  อนิยต ๒  เสียที่เหลือจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย  บ้างก็ว่าเว้นปาราชิก  สังฆาทิเสส ๑๓  อนิยต    และนิสสัคคียปาจิตตีย์  ๓๐  เสียที่เหลือจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย  บ้างก็ว่าเติมปาจิตตีย์ ๙๒  เสีย  ที่เหลือจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย  บ้างก็ว่าเติมปาฎิเทสนียะ ๔  ลงไปอีก  ที่เหลือจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
               เมื่อมติที่ประชุมมีความเห็นแตกต่างกันอย่างนี้  พระมหากัสสปเถระจึงได้กล่าวขึ้นว่าดูก่อนอาวุโส  ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า  สิกขาบททั้งหลายของพวกเรา  ที่บ่งถึงคฤหัสถ์ก็มีอยู่แม้พวกคฤหัสถ์ก็ย่อมรู้ว่า  นี้ควรแก่ท่านทั้งหลายผู้เป็นสมณศากยบุตร  นี้ไม่ควรแก่ท่านทั้งหลาย  ดังนี้  ถ้าพวกเราจักพร้อมกันถอนสิกขาบทเล็กๆ  น้อยๆ  ไซร์  ก็จักมีผู้กล่าวว่าพระสมณโคดมทรงบัญญัติสิกขาบท  เพื่อเหล่าสาวกชั่วกาลแห่งควันไฟ  พระศาสดาของสาวกเหล่านี้  ได้ดำรงอยู่แล้วเพียงใด  สาวกเหล่านี้ก็ศึกษาแล้วในสิกขาบททั้งหลายเพียงนั้น
เพราะพระศาสดาของสาวกเหล่านี้ปรินิพานแล้ว
               บัดนี้เหล่าสาวกจึงไม่ศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย  ก็ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้วไซร็  สงฆ์พึงไม่บัญญัติสิกขาบทที่ยังมิได้ทรงบัญญัติ  พึงไม่ตัดทอนสิกขาบทที่ทรงบัญญัติแล้วพึงสมาทานประพฤติในสิกขาบทตามที่ทรงบัญญัติไว้นี้เป็นบัญญัติ  ฯลฯ  ท่านผู้ใดเห็นว่าสมควรท่านผู้นั้นพึงนิ่งเฉย  ท่านผู้ใดเห็นว่าไม่ควร  ท่านผู้นั้นพึงพูดขึ้น
               เมื่อสิ้นกระแสประกาศของพระมหากัสสปเถระแล้ว  ปรากฎว่าที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันด้วยดี  จึงเป็นอันถือว่านับตั้งแต่กาลบัดนั้นเป็นต้นไป  สงฆ์ ( เฉพาะฝ่ายเห็นด้วยกับพระมหากัสสปเถระ )  จะไม่ถอนสิกขาบทแม้เล็กน้อยเลย  คณะสงฆ์คณะนี้จีงได้ปรากฎนามสืบต่อมาว่าคณะเถรวาท  หรือสถิรวาท  หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า  วินัยวาที  ก็เรียกได้  เพราะถือตามมติของพระเถรานุเถระอันมีพระมหากัสสปเถระเป็นประมุข             

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น