วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2555
เชิญร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในศตวรรรษที่ 1
ขอเรียนเชิญทุกท่านร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในศตวรรษที่ 1
พระพุทธศาสนาในศตวรรษที่1 (ตอนอวสาน)
ผลของการทำสังคายนาครั้งที่ ๑
สรุปการสังคายนาครั้งที่ ๑
การสังคายนาครั้งที่ ๑ นี้ สามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้
๑. ทำที่ถ้ำสัตตปัณณคูหา ภูเขาเวภาระ เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ
๒. พระมหากัปเถระเป็นประธาน และเป็นองค์ปุจฉา พระอุบาลีเป็นองค์วิสัชนาพระ
วินัย พระอานนท์ เป็นองค์วิสัชนาพระสูตรและพระอภิธรรม
๓. พระเจ้าอชาตศัตรูทราเป็นองค์อุปถัมภ์
๔. พระอรหันต์ จำนวน ๕๐๐ องค์ เข้าร่วมประชุม
๕. สงฆ์ปรับอาบัติพระอานนท์
๖. สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ
๗. พระปุราณะคัดค้านการทำสังคายนา ด้วยวัตถุ ๘ ประการ
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อร้อยกรองพระธรรมวินัยเข้าเป็นหมวดหมู่เพื่อความดำรงมั่นของพระศาสนาทำเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๓ เดือน และ ทำอยู่ ๗ เดือน จึงสำเร็จมีการตระเตรียมงานอยู่นานถึง ๖ สัปดาห์
ผลที่เกิดจากการทำสังคายนาครั้งที่ ๑
๑. ได้รัอยกรองพระธรรมวินัยเข้าเป็นหมวดหมู่เป็นระเบียบเรียบร้อย
๒. การปฎิบัติของพระอานนท์ และการลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะเป็นตัวอย่างที่ดีชี้ถึงหลักประชาธิปไตยอย่างชัดเจน
๓. ทำให้คำสอนของพระพุทธองค์ดำรงมั่น และได้ตกทอดมาถึงปัจจุบัน
๔. แสดงถึงความสามัคคีของพระภิกษุสงฆ์ที่ได้พร้อมเพียงกันจนถือเอาเป็นตัวอย่างในการทำสังคายนาในสมัยต่อๆ มา
สรุป
หลังพุทธปรินิพพาน สถานการณ์พระพุทธศาสนาในประเทศอินเดียในพุทธศตวรรษที่ ๑ มีสาระสำคัญ คือ การทำปฐมสังคายนา โดยคณะสงฆ์เริ่มงานรวบรวมประมวลคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเป็นระบบ ซึ่งมีความสำคัญต่อการสืบทอดและขยายตัวของพระพุทธศาสนาในยุคต่อมา ปัจจัยที่สนับสนุนให้เกิดสังคายนาครั้งที่ ๑ มาจากเหตุผลหลายประการ ได้แก่แนวคิดที่จะรวบรวมพระธรรมวินัยก่อนพุทธปรินิพพานของพระสารีบุตร เหตุการณ์ที่พระสุภัททะการกล่าวจ้วงจาบพระพุทธองค์ เมื่อทราบข่าวการเสด็จปรินิพพานของพระพุทธองค์ และเพื่อความดำรงมั่นของพระธรรมวินัย
เหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับการสังคายนาครั้งที่ ๑ เริ่มจากการขอความสนับสนุนของรัฐแห่งอาณาจักรมคธในยุคของพระเจ้าอชาตศัตรู การคัดเลือกพระสงฆ์ผู้เป็นพระอรหันต์ มีความเชี่ยวชาญพระธรรมวินัย การอภิรายวินิจฉัยสิกขาบทเล็กน้อยซึ่งประเด็นนี้กลายเป็นเรื่องบ่งชี้ลักษณะสำคัญของนิกายสงฆ์ในยุกต่อมา คือ เถรวาทให้ยืดหลักการดั้งเดิมไม่ให้มีการปรับเปลี่ยนหรือลดทอนในส่วนที่พระพุทธองค์ตรัสไว้แล้ว และไม่เพิ่มเติมในส่วนที่พระพุทธองค์ไม่ได้ตรัสส่วนฝ่ายมหายานมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับยุคสมัยประยุกต์ให้สนองความต้องการของสังคมจึงมีลักษณะเป็นเสรีนิยม
พระพุทธศาสนาในศตวรรษที่ 1 (ตอนที่ 7)
สงฆ์ปรับอาบัติพระอานนท์
พระราชธรรมนิเทศ ( ระแบบ ฐิตญาโณ ) ได้กล่าวว่า ที่ประชุมสงฆ์ยังได้มีมติตำหนิ ( ใช้คำว่า ตำหนิ ไม่ใช้คำว่าปรับอาบัติ ) การกระทำของพระอานนท์ ๕ อย่าง ว่าเป็นการกระทำไม่ดี ซึ่งใช้คำบาลีว่า ทุกกฎ ที่แปลกันว่า อาบัติทุกกฎ แต่การกำหนดอาบัติเป็นพุทธอาณาคนอื่นไม่อาจจะที่จะบัญญัติอาบัติได้ ความหมายของคำนี้ จึงควรเป็นตำหนิว่า ทำไม่ดีเท่านั้นข้อที่สงฆ์ตำหนิพระอานนท์ ๕ ประการนั้น คือ
๑. ไม่กราบทูลถามว่าสิกขาบทเล็กน้อยที่รับสั่งนั้นคือสิกขาบทอะไร พระอานนท์แก้ว่า กราบทูลถามเพราะท่านกำลังเศร้าโศก เนื่องจากพระพุทธเจ้ากำลังจะปรินิพพานจึงระลึกไม่ได้
๒. เวลาพระอานนท์เย็บผ้าของพระพุทธเจ้าได้ใช้เท้าหนีบผ้าอีกด้านหนึ่ง อันเป็นการขาดความเคารพต่อพระพุทธองค์ ข้อนี้พระอานนท์แก้ว่า ที่ต้องทำเช่นนั้น เพราะไม่มีใครช่วยจับเวลาเย็บผ้า หาได้ทำด้วยขาดความเคารพไม่
๓. พระอานนท์ปล่อยให้สตรีถวายอภิวาทพระพุทธสรีระ พวกเธอร้องไห้กันจนน้ำตาถูกพระพุทธสรีระ ข้อนี้พระอานนท์ ท่านเห็นว่าสตรีไม่ควรอยู่ข้างนอกในเวลากลางคืน จึงได้จัดให้พวกเธอได้เข้าไปถวายอภิวาทพระพุทธสรีระก่อน จะได้กลับสู่ที่อยู่อาศัยของตนในเวลาที่ยังไม่ค่ำมืด
๔. พระอานนท์ไม่กราบทูลอาราธนา ให้พระพุทธเจ้าทรงดำรงพระชนม์อยู่ตลอดกัปทั้งๆ ที่พระองค์ทรงทำนิมิตโอภาสถึง ๑๖ ครั้ง พระอานนท์แก้ว่า ที่ไม่กราบทูลอาราธนาเพราะไม่ทราบ เนื่องจากท่านถูกมารดลใจ
๕. พระอานนท์ขวนขวายให้สตรีเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา พระอานนท์แก้ว่าท่านเห็นว่า พระนางมหาปชาบดีโคตมีซึ่งเป็นพระมาตุจฉา ได้ประคับประคองเลี้ยงดูพระผู้มีพระภาค มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
การกระทำทั้งหมดนี้ ท่านไม่เห็นว่าเป็นความผิดอะไร แต่เมื่อสงฆ์เห็นว่าเป็นการกระทำไม่ดี ท่านยินดียอมรับและถ่ายถอนความผิดนั้น การกระทำของพระสังคีติกาจารย์นอกจากจะเป็นการเน้นให้เห็นว่า การทำบางอย่างถึงแม้ว่าตนจะไปด้วยความบริสุทธิ์ใจแต่เมื่อ ความรู้สึกส่วนใหญ่ท่านตำหนิ การจะดื้อรั้งถือดีไปเป็นการไร้ประโยนช์ การยอมรับนับถือมติส่วนใหญ่ ในบางกรณีเพื่อยุติปัญหาและสร้างแบบแผนที่ดีงามนั้น เป็นสิ่งที่ควรกระทำ
การคัดค้านการสังคายนาครั้งที่ ๑
ในขณะที่พระมหากัสสปเถระได้ทำเสร็จสมบูรณ์ ในการรวบรวมพระธรรมวินัย และสร้างความมั่นใจในหมู่พระเถระถึง ๕๐๐ รูป แต่ก็ยังมีพระภิกษุอีกกลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วย คือกลุ่มพระปุราณะได้ด้พาบริวารจำนวน ๕๐๐ รูป เดินทางมาจากทักขิณาคิรีชนบท มาพักที่เวฬวันวิหาร ในกรุงราชคฤห์ ภิกษุทั้งหลายได้บอกให้ท่านทราบว่า ดูก่อนท่านปุราณะพระธรรมวินัยอันภิกษุทั้งหลายได้ทำเสร็จแล้ว ขอท่านยอมรับด้วย พระปุราณะกล่าวว่า “ ท่านทั้งหลาย พระเถระทั้งหลายได้ทำสังคายนาพระธรรมวินัยกันเรียบร้อยก็ดีแล้ว แต่ผมได้ฟังได้รับมาเฉพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้าว่าอย่างไร จะถือปฎิบัติตามนั้น “ เมื่อได้ชี้แจงกันพอสมควรแล้วปรากฎว่าพระปุราณะมีดวามเห็นตรงกับพระสังคีติกาจารย์ส่วนมาก แต่มีความเห็นขัดแย้งกันเรื่องวัตถุ ๘ ประการ ซึ่งเป็นพระพุทธานุญาตพิเศษที่ทรงอนุญาตให้พระภิกษุทำได้ในความเกิดทุพภิกขภัย แต่เมื่ออภัยเหล่านั้นระงับก็ทรงบัญญัติห้ามมิให้กระทำอีก วัตถุ ๘ ประการนั้น คือ
๑. อันโตวุฎฐ เก็บของที่เป็นยาวกาลิก คืออาหารไว้ในที่อยู่ของตน
๒. อันโตปักกะ ให้มีการหุงต้มอาหารในที่อยู่ของตน
๓. สามปักกะ พระลงมือหุงต้มด้วยตนเอง
๔. อุคคหิตะ การหยิบของเคี้ยวของฉันที่ยังไม่ได้ประเคน
๕. ตโตนิหตะ ของที่นำมาจากที่นิมนต์ซึ่งเป็นพวกอาหาร
๖. ปุเรภัตตะ การฉันของก่อนเวลาภัตตาหารในกรณีที่ตนรับนิมนต์ใว้ในที่อื่น
แต่ฉันอาหารอื่นก่อนอาหารที่ตนจะต้องฉันในที่นิมนต์
๗. วนัฎฐะ ของที่เกิดและตกอยู่ในป่า ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ
๘. โปกขรัฎฐะ ของที่เกิดและอยู่ในสระ เช่น ดอกบัว เหง้าบัว
วัตถุทั้ง ๘ ประการนี้พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตเป็นพิเศษในคราวทุพภิกขภัย ๒ คราว คือ ที่เมืองเวสาลีและที่เมื่องราชคฤห์ แต่เมื่อทุพภิกขภัยหายไปแล้ว ทรงห้ามมิให้พระภิกษุกระทำ พระปุราณะและพวกของท่านคงจะได้ทราบเฉพาะเวลาที่ทรงอนุญาต จึงจำทรงไว้อย่างนั้นเนื่องจากการอยู่กระจัดกระจายกัน การติดต่อบอกกล่าวกันบางเรื่องทำไม่ได้ เมื่อฝ่ายพระสังคีดิกาจารย์ชี้แจงให้ท่านฟังท่านกลับมีความเห็นว่า “ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระสัพพัญญุตญาณไม่สมควรที่จะบัญญติห้ามแล้วอนุญาต อนุญาตแล้วกลับบัญญัติห้ามมิใช่หรือ “
พระมหากัสสปเถระกล่าวว่า “ เพราะพระองค์ทรงมีพระสัพพัญญุตญาณนั้นเองจึง ทรงรู้ว่ากาลใดควรห้าม กาลใดควรอนุญาต “ ท่านยังได้กล่าวเน้นให้พระปุราณะทราบมติของ ที่ประชุมที่ได้ตกลงกันว่า “ จักไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้ามิได้ทรงบัญญัติขึ้น จักไม่เพิกถอนสิ่งที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว จักสมาทานศึกษาสำเหนียก ในสิกขาบททั้งหลาย ตามที่ทรงบัญญัติไว้ “ พระปุราณะยืนยันว่า ท่านจักปฎิบัติตามมติของท่านที่ได้สดับฟังมา
หลักฐานฝ่ายมหายานบอกว่า พระปุราณะไม่ยอมรับเรื่องวัตถุ ๘ ประการนี้ แล้วนำพวกของตนไปจัดการสังคายนาขึ้นอีกต่างหาก ซึ่งแน่นอนว่า วัตถุ ๘ ประการนี้ซึ่งตามพระวินัยห้านมิให้ทำ และปรับอาบัติปาจิตดีย์บ้าง ทุกกฎบ้างนั้น ฝ่ายพระปุราณะถือว่ากระทำได้ เป็นอันว่า “ “ “ความแตกแยกในทางข้อปฎิบัติ คือความเสียแห่งสีลสามัญญตาได้เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนาหลังจากพุทธเจ้าปรินิพพานผ่านไปเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น ความไม่เสมอกันในด้านการปฎิบัติอย่างน้อยได้แตกแยกออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ๑ ) ฝ่ายที่ยอมรับนับถือมติของพระสังคีติกาจารย์ ในคราวปฐมสังคายนา ๒ ) ฝ่ายที่สนับสนุนคล้อยตามมติของพระปุราณะกับพวกอย่างน้อยฝ่ายนี้ต้องมีไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ รูป ซึ่งในที่สุดฝ่ายพระปุราณะต้องได้พวกเพิ่มขึ้น
เสถียร โพธินันทะ ได้ให้ข้อคิดในเรื่องนี้ว่า ปฐมสังคายนา เป็นการทำขึ้นโดยภิกษุหมู่หนึ่งเท่านั้น ยังมีภิกษุอีกจำนวนมากที่ไม่ได้เข้าประชุม และในจำนวนภิกษุเหล่านี้คงมีบางหมู่ที่ไม่พอใจในการสังคายนาของฝ่ายพระมหากัสสปเถระและคงมีหลายหมู่ โดยเฉพาะหมู่สงฆ์ฝ่ายพระปุราณะเอง ซึ่งคงเป็นพระเถระสำคัญรูปหนึ่ง มิฉะนั้นเหตุไร่พระมหากัสสปเถระจึงต้องมาเสียเวลาชุมนุมสงฆ์ ชี้แจงให้ฟัง และเหตุการณ์เช่นนี้ได้เป็นส่วนสำคัญที่สนับสนุนความเชื่อถือของพุทธศาสนิกฝ่ายมหายาน ว่าพวกหมายานได้ออกไปตั้งกองสังคายนาต่างหาก จากคณะสงฆ์ฝ่ายพระมหากัสสปเถระ
สิกขาบท ๘ ข้อนั้น เสถียร โพธินันทะ กล่าวว่า ข้ออ้างของฝ่ายพระปุราณะไม่มีเหตุผลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้รอบคอบทรงปัญญาเฉียบแหลม ไม่นิยมในวัตรปฎิบัติที่ดึงเครียดย่อมทรงผ่อนผันไปตามกาล อย่างไรก็ตาม เรื่องราวนี้แสดงให้เห็นว่า การที่ไม่มีนิยมให้เขียนพระธรรมคำสอนให้แพร่หลายในสมัยก่อนให้เป็นหลักฐาน ใช้แต่การทรงจำถ่ายทอดกันมานั้นบางทีก็อาจมีการคลาดเคลื่อนเช่นจำผิด หรือนึกไม่ออกเช่นพระปุราณะเป็นต้น การสังคายนาจึงเป็นสอบทวนความทรงจำของสงฆ์ให้เข้ารูปเข้ารอยเป็นอันเดียวกันนั้นเอง
สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์พระฉันนะ
พระฉันนะ เคยเป็นข้าราชบริพารของพระเจ้าสุทโธทนะ และใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้ามาบวช คือเป็นสารถีขับม้าให้พระองค์ในวันที่เสด็จออกผนวช และมีอายุเท่ากันกับพระพุทธจ้าเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะออกบวช นายฉันนะก็ได้ตามเสด็จจนถึงฝั่งแม่น้ำอโนมานทีแล้วจึงกลับ เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้ และสั่งสอนเวไนยสัตว์จนพุทธศาสนาแผ่ไปกว้างไกล ฉันนะจึงพร้อมด้วยเจ้าชายศากยะหลายองค์ตามออกบวช เมื่อบวชมาแล้วจึงมีความเย่อหยิ่ง ว่าตนเป็นคนใกล้ชิดของพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังได้ติเตียนดูหมิ่นภิกษุรูปอื่นๆ ด้วย แม้พระองค์จะได้ทรงตักเตือนหลายต่อหลายครั้งก็ไม่เชื่อ พระองค์จึงตรัสสั่งพระอานนท์ไว้ว่า “ อานนท์ หลังจากเราล่วงไปแล้วสงฆ์พึงลงพรหมทัณฑ์แก่ฉันนะ”
ครั้นนั้น พระอานนท์ได้แจ้งแก่ที่ประชุมสงฆ์ พระเถระทั้งหลายกล่าวว่า ท่านอานนท์ท่านทูลถามพระผู้มีพระผู้มีพระภาคหรือไม่ว่า พรหมทัณฑ์เป็นอย่างไร พระอานนท์ตอบว่า ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคแล้ว พระองค์ตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ ภิกษุฉันนะพึงพูดตามปรารถนา ภิกษุทั้งหลายไม่พึงกล่าว ไม่พึงพร่ำสอนภิกษุฉันนะ
พระเถระทั้งหลายกล่าวว่า ท่านอานนท์ ถ้าเช่นนั้น ท่านนั่นแหละจงลงพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ พระอานนท์ขอปรึกษาพระเถระทั้งหลายว่า จะลงพรหมทัณฑ์ได้อย่างไร พระฉันนะท่านเป็นคนที่ดุร้ายมาก ถ้าเช่นนั้นท่านจงไปกับภิกษุหลายๆ รูป พระอานนท์ก็โดยสารเรือไปพร้อมกับภิกษุหมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป ถึงเมืองโกสัมพี พระอานนท์เข้าไปยังวัดโฆสิดารามครั้นแล้วนั่งบนอาสนะ พระฉันนะเห็นท่านก็เข้าไปหาท่านพระอานนท์ อภิวาทแล้วนั่งที่สมควร พระอานนท์ได้กล่าวกะพระฉันนะว่า สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์ท่านแล้ว
พระฉันนะถามว่า พรหมทัณฑ์คืออะไร พระอานนท์ ตอบว่า ท่านปรารถนาจะพูดคำใด พึงพูดคำนั้นเถอะ พระสงฆ์ทั้งหลายจะไม่กล่าว ไม่ตักเตือน พระฉันนะเข้าใจ ด้วยเหตุเพียงที่ภิกษุทั้งหลายไม่ว่ากล่าว ไม่ตักเตือน ไม่พร่ำสอน สงฆ์กำจัดข้าพเจ้าแล้วมิใช่หรือแล้วพระฉันนะ กล่าวจบลง ท่านก็สลบล้มลง ณ ที่นั้นเอง
ครั้นต่อมาพระฉันนะ ก็มีความอึดอัด ระอาใจ รังเกียจอยู่ด้วยพรหมทัณฑ์จึงหลีกหนีออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว ท่านสำนึกได้ ตั้งใจบำเพ็ญเพียร ไม่ประมาท ฝึกฝนอบรมตนด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ไม่เท่าไรนักได้ทำให้แจ้งซึ่งคุณพิเศษอันยอดเยี่ยม สำเร็จเป็นพระอรหันต์ แล้วท่านก็ไปพบพระอานนท์แล้วกล่าวว่า ขอท่านจงระงับพรหมทัณฑ์แก่ผมในบัดนี้เถิด ท่านพระอานนท์กล่าวตอบว่า ท่านฉันนะ เมื่อใดท่านทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัตตผลแล้ว เมื่อนั้นพรหมทัณฑ์ของท่านก็ระงับแล้ว
พระพุทธศาสนาในศตวรรษที่ 1 (ตอนที่ 6)
การอภิปรายเรื่องสิขาบทเล็กน้อย
การอภิปรายเรื่องสิกขาบทเล็กน้อย เสถียร โพธินันทะ กล่าวว่า ในปฐมสังคายนาครั้งนั้น พระอานนท์ได้กล่าวในที่ประชุมสงฆ์ถึงพระพุทธานุญาต ข้อที่ให้สงห์ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ ที่ประชุมได้ถามพระอานนท์ว่า ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค ถึงสิขาบทเล็กๆ น้อยๆ คืออะไร พระอานนท์ตอบว่า มิได้ทูลถาม เกิดปัญหาในที่ประชุมเพราะในที่ประชุมมีความคิดเห็นต่างๆ นานา พระเถระบางพวก ก็ว่าเว้นปาราชิก ๔ เสียที่เหลือจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย บางพวกว่ายกเว้นปาราชิก สังฆาทิเสส ๑๓ อนิยต ๒ เสียที่เหลือจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย บ้างก็ว่าเว้นปาราชิก สังฆาทิเสส ๑๓ อนิยต ๒ และนิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐ เสียที่เหลือจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย บ้างก็ว่าเติมปาจิตตีย์ ๙๒ เสีย ที่เหลือจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย บ้างก็ว่าเติมปาฎิเทสนียะ ๔ ลงไปอีก ที่เหลือจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย
เมื่อมติที่ประชุมมีความเห็นแตกต่างกันอย่างนี้ พระมหากัสสปเถระจึงได้กล่าวขึ้นว่าดูก่อนอาวุโส ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สิกขาบททั้งหลายของพวกเรา ที่บ่งถึงคฤหัสถ์ก็มีอยู่แม้พวกคฤหัสถ์ก็ย่อมรู้ว่า นี้ควรแก่ท่านทั้งหลายผู้เป็นสมณศากยบุตร นี้ไม่ควรแก่ท่านทั้งหลาย ดังนี้ ถ้าพวกเราจักพร้อมกันถอนสิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ ไซร์ ก็จักมีผู้กล่าวว่าพระสมณโคดมทรงบัญญัติสิกขาบท เพื่อเหล่าสาวกชั่วกาลแห่งควันไฟ พระศาสดาของสาวกเหล่านี้ ได้ดำรงอยู่แล้วเพียงใด สาวกเหล่านี้ก็ศึกษาแล้วในสิกขาบททั้งหลายเพียงนั้น
เพราะพระศาสดาของสาวกเหล่านี้ปรินิพานแล้ว
บัดนี้เหล่าสาวกจึงไม่ศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย ก็ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้วไซร็ สงฆ์พึงไม่บัญญัติสิกขาบทที่ยังมิได้ทรงบัญญัติ พึงไม่ตัดทอนสิกขาบทที่ทรงบัญญัติแล้วพึงสมาทานประพฤติในสิกขาบทตามที่ทรงบัญญัติไว้นี้เป็นบัญญัติ ฯลฯ ท่านผู้ใดเห็นว่าสมควรท่านผู้นั้นพึงนิ่งเฉย ท่านผู้ใดเห็นว่าไม่ควร ท่านผู้นั้นพึงพูดขึ้น
เมื่อสิ้นกระแสประกาศของพระมหากัสสปเถระแล้ว ปรากฎว่าที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันด้วยดี จึงเป็นอันถือว่านับตั้งแต่กาลบัดนั้นเป็นต้นไป สงฆ์ ( เฉพาะฝ่ายเห็นด้วยกับพระมหากัสสปเถระ ) จะไม่ถอนสิกขาบทแม้เล็กน้อยเลย คณะสงฆ์คณะนี้จีงได้ปรากฎนามสืบต่อมาว่าคณะเถรวาท หรือสถิรวาท หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า วินัยวาที ก็เรียกได้ เพราะถือตามมติของพระเถรานุเถระอันมีพระมหากัสสปเถระเป็นประมุข
วันศุกร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2555
พระพุทธศาสนาในศตวรรษที่1(ตอนที่ 5 )
การสังคายนาครั้งที่ ๑
สาเหตุให้เกิดการสังคายนาครั้งที่
ในการทำสังคายนาในครั้งนี้ พระมหากัสสปเถระปรารภเหตุ ๓ ประการ คือ ๑) พระสุภัททะกล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย ๒) พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้กับพระอานนท์ว่าพระธรรมวินัยจักเป็นศาสดาแทนพระองค์เมื่อพระองค์เสด็จปรินิพานไปแล้ว ๓) พระมหากัสสปเถระระลึกถึงคุณของพระศาสดาที่มีต่อท่าน
ความเป็นมามีอยู่ว่า พระพุทธเจ้าได้ปรินิพพานเมื่อพระชนมายุ ๘๐ พรรษาที่เมืองกุสินารา เมืองหลวงของแคว้นมัลละปรากฎว่า มีพระมหาสาวกที่สำคัญยังคงมีชีวิตอยู่หลายท่าน เช่น พระมหากัสสปเถระ พระอนุรุทธะ พระอุปวาณะ พระจุนทะ พระควัมปติ พระกุมารกัสสปะ พระอานนท์ พระมหากัจจายนะ พระอุเทนะ เหล่านี้เป็นต้น ข่าวการปรินิพพานของพระพุทธองค์ได้แพร่สะพัดไปในที่ต่างๆ อย่างรวดเร็ว พุทธบริษัททั้งสี่ที่ยังเป็นปุถุชน เมื่อได้สดับข่าวนี้แล้ว ต่างก็พากันเศร้าโศกเสียใจ ร้องห่มร้องให้ ส่วนพระอรหันต์ทั้งหลายก็อดกลั้นด้วยธรรมสังเวช
ขณะที่พระพุทธองค์ปรินิพพานนั้น พระมหากัสสปเถระกำลังจาริกแสดงธรรมอยู่ที่เมืองปาวา ซึ่งเป็นเมืองของแคว้นมัลละอีกเมืองหนึ่ง ขณะนั้นท่านกำลังจะเดินทางไปเมืองกุสินาราเมื่อมาถึงกลางทางเห็นอาชีวกคนหนึ่งถือดอกมณฑาทิพย์เดินสวนทางมา ท่านเกิดความประหลาดใจ ตามปกติแล้วดอกมณฑาทิพย์จะไม่ปรากฎให้เห็นเลย เพราะเป็นดอกไม้สวรรค์ท่านจึงได้ไต่ถาม อาชีวกคนนั้นจึงทราบว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว จึงรีบรุดไปเมืองกุสินนาราทันที
ครั้นไปถึงแล้ว ก็ได้ฟังคำอันไม่เป็นมงคลของสุภัททภิกษุ ที่กล่าวในท่ามกลางสังฆสภาพระมหากัสสปเถระเกิดธรรมสังเวช และดำริว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานสิ้นกาลไม่นานนัก คือเพียง ๗ วันเท่านั้น ก็มีภิกษุอลัชชี ไม่มียางอาย หน้าด้าน กล่าวจ้วงจาบ ( กล่าวตู่ กล่าวติเตียน ) พระธรรมวินัยในท่ามกลางสงฆ์เช่นนี้ ต่อไปภายภาคหน้าจะมิยิ่งร้ายกว่านี้หรือ เราจักเรียกประชุมสงฆ์องค์อรหันต์ทั้งหลาย เพื่อหาทางป้องกัน และกำจัดเหล่าอลัชชีให้หมดไปชำระพระธรรมวินัยร้อยกรองให้เป็นหมวดหมู่ เพื่อความดำรงมั่นของพระพุทธศาสนา
เมื่อถวายพระเพลิงพระสรีระของพระพุทธองค์เสร็จแล้ว พระหมากัสสปเถระจึงเรียกประชุมสงฆ์ ยกวาทะของพระสุภัททะขึ้นกล่าวอ้างในท่ามกลางสงฆ์ ที่ประชุมได้ตกลงรับหลักการท่านจึงได้ชี้แจงให้ที่ประชุมสงฆ์ทราบว่าจะจัดทำสังคายนาเพื่อร้อยกรองพระธรรมวินัยเข้าเป็นหมวดหมู่ และได้คัดเลือกเอาพระอรหันต์ ๔๙๙ องค์ เข้าร่วมประชุม ส่วนอีกรูปหนึ่งคือพระอานนท์ยังไม่บรรลุพระอรหันต์ ที่ประชุมเห็นว่าควรจะให้โอกาสแก่พระอานนท์ ภายหลังต่อมาจึงได้บรรลุพระอรหันต์ ซึ่งเป็นวันที่จะเริ่มต้นทำสังคายนา
พระมหากัสสปะเลือกเมืองราชคฤห์เป็นที่ทำสังคายนาทั้งๆ ที่เมืองราชคฤห์กับเมืองกุสินาราอยู่ไกลกันมาก การเดินทางไปมาก็ลำบาก จะต้องผ่านเมืองปาวา เมืองเวสาลี เมืองปาฏลีบุตร เมืองนาลันทา จึงถึงเมืองราชคฤห์ การเลือกเมืองราชคฤห์เป็นสถานที่ทำสังคายนา น่าจะมีเหตุผลหลายประการ เช่น มีชัยภูมิที่เหมาะสม การคมนคม และหาปัจจัยสี่ได้โดยสะดวก เพราะเป็นเมืองใหญ่แล้ว พระเจ้าอชาตศัตรู ทรงมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า พร้อมที่จะให้การอุปถัมภ์การสังคายนา และที่สำคัญเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธนับเป็นศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนาในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี
เมื่อตกลงกันเป็นเอกฉันท์แล้ว พระมหาเถระจึงได้ออกเดินทางจากเมืองกุสินารา ไปสู่เมืองราชคฤห์ ครั้นไปถึงแล้วได้ถวายพระพร แจ้งความประสงค์ให้พระเจ้าอชาตศัตรูทรงทราบ เมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูทรงทราบแล้ว ก็บังเกิดความปิติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง และได้ตรัสถามพระมหาเถระทั้งหลายว่า พระผู้เป็นเจ้าประสงค์จะทำสังคายนา ณ ที่ใด พระหมาเถระถวายพระพรตอบว่า ที่ถ้ำสัตตปัณณคูหา บนภูเขาเวภาระ ซึ่งเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์เงียบสงัด ปราศจากคนพลุกพล่าน เป็นสถานที่สวยงามประหนึ่งเทวดาเนรมิดไว้
พระเจ้าอชาตศัตรู ได้รับสั่งให้จัดสถานที่ด้านหน้าถ้ำสัตตปัณณคูหา และให้สร้างปะรำที่หน้าถ้ำ ครั้นแล้วได้รับสั่งให้ปูลาดต่อไป พระมหาเถระทั้งหลายได้ลงมือประชุมทำสังคายนากัน หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพานไปแล้ว ๓ เดือน ที่ประชุมได้ถวายหน้าที่ให้พระมหากัสสปเถระเป็นประธานและเป็นองค์ปุจฉา เพราะเป็นพระผู้มีพรรษามาก และเป็นที่เลื่อมใสของพระสงฆ์ทั้งหลาย ให้พระอุบาลีเถระเป็นองค์ วิสัชนาพระวินัย เพราะท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญ แตกฉานในพระวินัย ให้พระอานนท์ เป็นองค์วิสัชนาพระธรรม เพราะท่านเป็นพหูสูต มีความรู้แตกฉานเชี่ยวชาญในพระธรรม ทำอยู่ ๗ เดือน มีพระอรหันต์ จำนวน ๕๐๐ องค์ มีพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นผู้อุปถัมภ์ การทำสังคายนาในครั้งนี้ เป็นเพียงจัดรวบรวมคำสอนของพระพุทธองค์ตลอด ๔๕ พรรษา เข้าเป็นหมวดหมู่ วรรค ตอน โดยความเรียบร้อยเพื่อง่ายแก่การท่องจำและสวดกันเท่านั้น ยังมิได้เขียนไว้
สมัยปัจจุบันนี้ เรามีตำราที่พอจะค้นได้ แต่กระนั้นพระสงฆ์ของเรา ยังท่องจำสวดมนต์เล่มโตๆ ได้ตั้งแต่ต้นจนปลายโดยไม่ผิดเพี้ยนคำเดียว ส่วนในครั้งกระโน้น พระสงห์รู้อยู่ว่าปล่อยให้หลงลืมผิดเพี้ยนไปจะค้นคว้าตำราที่ไหน สอบทานไม่ได้ จึงต้องพยายามจดจำให้ถูกต้องจริงๆ ไม่ยอมให้คลาดเคลื่อนเลย ขอให้สังเกตว่าคนที่ไม่รู้หนังสือ ย่อมมีความจำดีนักหนา เช่น คนที่มั่งคั่งตามชนบทที่เขาไม่รู้หนังสือ แต่เขาสามารถจดจำจำนวนเงินได้ทั้งหมด แต่ผู้รู้หนังสือมีบัญชีที่จะไปเปิดดูได้ ก็ไม่ค่อยเอาใจใส่หรือถือความจำเป็นของสำคัญการทำสังคายนา ก่อนสมัยที่ จะจารึกพระไตรปิฎกลงเป็นอักษรนั้น ทำกันอย่างรอบคอบระมัดระวัง วิธีสังคายนาปากเปล่า นั้นคือพระสงฆ์ที่คงแก่การเรียนมาประชุมกัน พร้อมกันเป็นอันมาก เลือกรูปที่เก่งที่สุดในทางใด ให้กล่าวพระพุทธวจนะในทางนั้น บางทีก็สมมุติให้เป็นผู้ถามตั้งปัญหา และรูปที่ได้รับความนับถือว่าแม่นยำที่สุดนั้นเป็นผู้ตอบ ถ้าคำตอบผิดพลาดไปผู้อื่นอาจคัดค้านได้ ข้อใดตกลงกันว่าเป็นอันถูกต้องดีแล้ว พระสงฆ์ทั้งหมดที่ประชุมอยู่ที่นั้นก็สวดข฿นพร้อมๆ กัน เป็นเรื่องๆ ไป เท่ากับเป็นการพิมพ์พระพุทธวจนะเหล่านั้น ลงในสมองของพระสงฆ์คราวละ ๕๐๐-๗๐๐ หรือ ๑,๐๐๐ องค์ จดจำไปบอกให้ผู้อื่นท่องบ่นกันต่อไปกลัวการสูญหายไปหรือสลายไป
พระพุทธศาสนาในศตวรรษที่1(ตอนที่ 4)
การกล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัยของพระสุภัททะ
พระมหากัสสปเถระเดินทางจากกรุงปาวามากรุงกุสินารา พร้อมด้วยพระสงฆ์บริวารของท่าน ๕๐๐ รูป พระภิกษุสงฆ์เป็นอันมากเกิดความสลดสังเวชใจ ที่ได้ทราบข่าวการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ถึงกับร้องห่มร้องไห้โศกเศร้าเสียใจ แต่มีอยู่รูปหนึ่งชื่อ สุภัททะ ( ไม่ใช่สุภัททะที่มาขอบวชก่อนพระพุทธเจ้าปรินิพาน ) นัยว่าบวชเมื่อแก่แล้ว พูดขึ้นว่า พระพุทธเจ้าปรินิพานเสียก็ดีแล้ว ต่อไปจะได้ไม่มีผู้บังคับกวดขันจุกจิก พวกเราพันจากมหาสมณะนั้นด้วยดีแล้ว เพราะเมื่อก่อนท่านได้เบียดเบียนเรา ด้วยการดักเตือนว่า นี่ควร นี่ไม่ควร สำหรับพวกธอทั้งหลาย บัดนี้พวกเราสบายแล้ว พวกเราต้องการทำสิ่งใดก็ทำสิ่งนั้น ไม่ต้องการทำสิ่งใดก็ไม่ทำสิ่งนั้น คำพูดของพระสุภัททะ ถือว่าเป็นการกล่าวจ้วงจาบขาดความเคารพต่อพระธรรมวินัย ทั้งๆ ที่ตนเองเป็นพุทธสาวก เสมือนผู้แสดงตนเป็นกบถต่อพระศาสนา
เสถียร โพธินันทะพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จะไม่ใช่มีพระสุภัททะเพียงรูปเดียวเท่านั้น คงจะมีปาปภิกษุอีกไม่ใช่น้อย ที่มีความคิดเห็นอย่างพระสุภัททะ ข้อความนี้เมื่อท่านไปสอบสวนกับเรื่องราวทางฝ่ายมหายานเข้า ก็ได้พบความจริงว่า นอกจากพระสุภัททะแล้ว ยังมีอลัชชีภิกษุที่มีทิฎฐิดังนั้นมาก และนอกจากนี้ก็ปรากฎต่อมาว่า มีพระต่างบ้านต่างเมือง อีกหลายหมู่หลายคณะต่างถือข้อปฎิบัติตามเจ้าหมู่เจ้าคณะของตน ไม่ยอมเข้าหมู่กับฝ่ายสงฆ์ ที่มีพระมหากัสสปเถระเป็นประมุขอยู่ ในกลุ่มพระสุภัททะนี้ อาจจะเข้าไปอยู่ในกลุ่มพระปุราณะ ที่ทำการคัดค้านสังคายนาครั้งที่หนึ่งก็เป็นได้
พระพุทธศาสนาในศตวรรษที่ 1 (ตอนที่ 3)
แนวคิดการจัดหมวดหมู่พระธรรมวินัยสมัยพุทธกาล
อันที่จริงความคิดเรื่องสังคายนานั้น ได้เคยมีมาตั้งแต่ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานพระสารีบุตรอัครสาวก ได้เคยปรารภขึ้นเฉพาะพักตร์พระพุทธเจ้า เนื่องจากเมื่อมหาวีระนิครนถ์นาฎบุตรสิ้นชีพแล้ว หลังจากวันสิ้นชีพเพียงเล็กน้อย พวกสาวกก็ย้ายแยกแตกความเห็นกันฝ่ายหนึ่งว่า อาจารย์ว่าอย่างนี้ อีกฝ่ายหนึ่งว่าอย่างนั้น พระสารีบุตรเป็นผู้เลิศทางปัญญา ได้รับเอตทัคคะจากพระพุทธเจ้า มองเห็นกาลไกลว่า ควรจะมีการสังคายนาคำสอนและข้อบัญญัติของพระพุทธเจ้าเป็นครั้งคราว กำหนดจดจำกันไว้ให้แม่นยำ เพื่อมิให้ต้องโต้เถียงและแตกแยกความเห็นกัน เหมือนสาวกมหาวีระ พระพุทธเจ้าตรัสชมความคิดของพระสารีบุตรว่าเป็นแนวคิดที่ดีมาก และพระจุนทเถระปรารภการนิรวาณของท่านมหาวีระ จนสาวกแตกแยกกันเป็นสองฝ่าย ได้เสนอให้มีการสังคายนาพระธรรมวินัย จนพระสารีบุตรเถระได้รับพุทธานุมัติให้จัดทำ แต่พระสารีบุตรก็ทำไม่สำเร็จ นิพพานก่อนพระพุทธเจ้า
พระธรรมวินัย ๑ คือ พระพุทธศาสนา คือตัวแทนพระพุทธเจ้า ดังที่พระอานนท์ได้ทูลถามพระพุทธองค์ว่า เมื่อพระพุทธองค์ปรินิพานไปแล้ว ใครจักเป็นศาสดาแทนพระองค์ พระองค์ได้ตรัสไว้กับพระอานนท์ว่า พระธรรมวินัยเป็นตัวแทนพระศาสดา เมื่อพระองค์ปรินิพานแล้ว ถ้ามีเพียงพระธรรม คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไม่มีสาวกประพฤติปฎิบัติและนำเผยแผ่พระธรรมก็จะหายไป มีเพียงพระวินัยแต่ไม่มีผู้ประพฤติปฎิบัติพระวินัยก็จะหายไปเช่นกัน มีแต่ศึกษาแต่ไม่มีการปฎิบัติหรือมีก็น้อยลงไปทุกทีๆการดำรงมั่นของพระธรรมวินัยก็อาจเสื่อมได้
ดังนั้น การทำสังคายนา จึงหมายถึงการสอบสวนทบทวนถ้อยคำพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้นั้น ให้เป็นที่ยอมรับกันว่าถูกต้อง หรือพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ สวดพร้อมกันเหมือนกับพระสงฆ์สวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็นทุกวันนี้ ถ้าองค์ไหนสวดผิดก็จะรู้กันทันทียิ่งกว่าการเขียนอักษรไทยลงในพระปิฎก ซึ่งอาจจะมีการคลาดเคลื่อนได้ แต่ก็ยังดีในยุคปัจจุบันพระไตรปิฎกยังเป็นหลักฐานยืนยัน อ้างอิงได้ พระสงฆ์สาวกในครั้งนั้น ต้องอาศัยความจำเป็นหลัก จึงต้องพยายามท่องจำกันให้ถูกต้อง ผู้ที่เคยมีชีวิตอยู่ในวัด คุ้นเคยกับการท่องบ่นบ้างแล้ว จะไม่สงสัยในข้อนี้เลย
พระพุทธศาสนาในศตวรรษที่ 1 (ตอนที่ 2 )
พระพุทธศาสนาในศตวรรษที่ ๑
หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้ ๓ เดือน ก็เกิดเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนาขึ้นเหตุการณ์ครั้งนี้ อาจถือว่าเป็นจุดหักเหของพระพุทธศาสนาเลยทีเดียว นั้นคือการสังคายนาครั้งที่ ๑ ที่ทำ ณ กรุงราชคฤห์แควันมคธ โดยมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน การสังคายนาครั้งนี้ นับว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา เพราะเป็นการรวบรวมร้อยกรองพระธรรมวินัยให้เป็นระบบ และหมวดหมู่ ที่สำคัญ การสังคายนาครั้งนี้ พระเถระทั้งหลายได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงพระธรรมวินัยไว้ดังเดิม โดยไม่มีการเพิ่มหรือตัดออก ดังนั้นเราจึงเรียกมติของพระเถระจำนวน ๕๐๐ รูป ผู้เข้าร่วมสังคายนาครั้งนี้ว่า “ เถรวาท “ อะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการสังคายนาครั้งที่ ๑ ขึ้นเป็นเรื่องที่นักศึกษาควรทราบดังนี้
พระพุทธศาสนาในศตวรรษที่ 1 (ตอนที่ 1)
พระพุทธศาสนาในศตวรรษที่ 1 นั้นพอจะมีความเป็นมาโดยย่อดังนี้ หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพานได้ 3 เดือน ก็เกิดเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนาขึ้น เหตุการณ์ครั้งนี้อาจถือว่าเป็นจุดหักเหของพระพุทธศาสนาเลยทีเดียว
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)